"Inner-Child" หรือที่เรามักได้ยิน ด้วยคำว่า "เด็กน้อย" หมายถึง 'เราตัวน้อยๆ ที่อยู่ภายในเราทุกคน'
เรารู้จักเด็กน้อยของเราไหม?
เด็กน้อยของเรา คือ ส่วนที่อ่อนโยน อ่อนไหว เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เป็นส่วนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเรา เด็กน้อยของเรามีความรู้สึกต่างๆมากมาย และโยงใยอย่างแน่นแฟ้นกับความต้องการทั้งหลายที่เป็นพื้นฐานของชีวิต
"เด็กน้อย" ของเรานั้น คือส่วนที่...
- มีความบอบบาง และ ไร้เดียงสา - มีอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เต็มเปี่ยม และ มีความอ่อนไหว ไวต่อความรู้สึกต่างๆอย่างมาก - มีความสนใจใคร่รู้, ความสร้างสรรค์ และ ความร่าเริงขี้เล่น - กระหายความรัก การถูกจดจำรับรู้ และต้องการการสนับสนุนยืนยัน - ปรารถนาทั้งการเชื่อมโยง และ ความปลอดภัย - มีใจที่เปิดรับ และเปิดกว้าง - มีการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ โกรธจริง โศกเศร้าจริง สุขล้นจริง
เด็กน้อยนั้นมีอยู่ในเราทุกคน ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ หรือเราจะสามารถรับรู้ เชื่อมโยง หรือมีการแสดงออก จากเด็กน้อยของเราได้มากน้อยเพียงใดก็ตาม บางครั้ง หรือ บางคน อาจมีการแสดงออกแบบเด็กๆ เมื่อรู้สึกอ่อนไหว เปราะบาง หรือมีอารณ์ความรู้สึกบางอย่างท่วมท้น สิ่งนี้สามารถเกิดกับใครก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งต่างๆท่วมท้นมากเกินไป และมักเกิดบ่อยๆกับคนที่มีบาดแผลทางใจ หรือยังไม่ได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ ที่จะดูแล หรือปกป้องความต้องการของตัวเอง อย่างมีสุขภาวะที่ดีเพียงพอ
'การแสดงออกแบบเด็กๆ' นี้ สัมพันธ์โดยตรงกับ 'เด็กน้อยภายใน' ของเราแต่ละคน เมื่อเด็กน้อยท่วมท้นเกินไป 'การแสดงออกแบบเด็กๆ' คือปรากฏการณ์ของการพยายามปกป้องตนเองที่มากเกินไป หรือปกป้องด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมักกลายเป็นการตอบสนองต่อเด็กน้อยภายใน ด้วยพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดสุขภาวะทางใจหรือทางความสัมพันธ์ที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
"การแสดงออกแบบเด็กๆ" เช่น...
- พฤติกรรมที่เกิดจากการขาดความสามารถในการดูแลตนเอง และรับผิดชอบต่อความรู้สึก และความต้องการต่างๆของตนเอง ด้วยตนเอง - สูญเสียการควบคุมตนเอง ให้กับพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อตนเองหรือผู้อื่น และมักแสดงออกด้วยการมีปฏิกริยาต่างๆ - การแสดงออกถึงความโกรธ โดยขาดการประเมินภายในตนเองอย่างสิ้นเชิง - ขาดความสามารถในการอดทน และมักโต้ตอบกับสิ่งต่างๆไปตามแรงกระตุ้น - ถือตนเองเป็นหลักสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว และมุ่งความสนใจไปแต่เฉพาะความต้องการของตัวเอง - มักทำลายกระบวนการเติบโตภายในของตนเอง และ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง - ปกป้อง 'เด็กน้อยภายใน' มากจนเกินไป ด้วยพฤติกรรมที่เป็นการตัดขาด การเชื่อมโยงด้วยความรัก ทั้งในตนเองหรือจากผู้อื่น หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า เด็กน้อย และจดจำ เชื่อมโยง กับ 'ด้านที่เปราะบางและมีบาดแผล' ในตัวเรา แท้จริงแล้ว ด้านแบบนี้ คือ "Wounded Inner-Child" หรือ "เด็กน้อยที่มีบาดแผล" เป็นด้านที่ตอบสนองต่อการถูกละเลยทอดทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นในทางด้านอารณ์ หรือในเชิงความต้องการทางจิตวิทยาต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่า 'เด็กน้อย' จะต้องเป็น 'เด็กน้อยที่มีบาดแผล' เสมอไป
"เด็กน้อยที่มีบาดแผล" นั้น...
- มีความเชื่อที่หยั่งลึกว่า ตนเองคือ ความผิดพลาด หรือ สิ่งที่พังทลาย - หวาดกลัวต่อการถูกทอดทิ้ง หรือการสูญเสียความรัก - มักขาดความมั่นใจ ไม่แน่ใจ วิตกกังวล และขาดความสามารถในการเคารพตนเอง หรือภูมิใจในตนเอง - มักสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ให้กับการพยายามเพื่อให้ได้การยอมรับ หรือการยืนยันจากผู้อื่น - รู้สึกหวาดกลัว ต่อการสร้างขอบเขตระหว่างตนเองกับผู้อื่น หรือการต้องพูดปฏิเสธ - มักแสวงหาความสุขแบบฉาบฉวยเร่งด่วน จากการใช้สารต่างๆต่อร่างกาย (การกิน การติดของหวาน การดื่มเหล้า การใช้สารเสพย์ติด หรือสิ่งใดก็ตามที่มีผลเพื่อปรับแต่งความรู้สึก), หรือด้วยการชอปปิ้ง แสวงหาการเติมเต็มด้วยสิ่งของ, การขัดจังหวะความคิดและความรู้สึกของตนเองด้วยกิจกรรมต่างๆ, และการผัดผ่อน ผัดวันประกันพรุ่ง เด็กน้อยในเรา ไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่ เด็กน้อย ก็คือ เด็กน้อย ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอยู่เสมอ แต่เราสามารถพัฒนาด้านที่เชื่อมโยง รับรู้ และดูแลเด็กน้อยในตัวเรา ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ได้ เมื่อเกิดการเชื่อมต่อ รับรู้ หรือบทสนททนาภายใน อย่างมีสุขภาวะที่ดี ระหว่างเด็กน้อยในตัวเรา กับตัวตนด้านที่เป็นผู้ใหญ่ของเรา จะเกิดเป็น 'ผู้ใหญ่ที่หลอมรวม' ขึ้น
ผู้ใหญ่ที่หลอมรวมความเป็นเด็กไว้ได้นั้น...
- สามารถเชื่อมโยงกับร่างกาย ความรู้สึกต่างๆทางกาย และอารมณ์ความรู้สึกทางจิตใจของตัวเองได้ดี - สามารถสังเกตเห็น รับรู้ และสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจน - มีความสามารถที่จะระบุถึงความต้องการ และรู้วิธีที่จะถามหา ร้องขอ ขอการสนับสนุนหรือความช่วยเหลือ โดยไม่ได้ใช้ความโกรธ หรือการแสดงปฏิกริยา - สามารถที่จะคงความเป็นตนเองที่แท้จริงไว้ได้ แม้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง - ให้เกียรติตนเอง เคารพตนเอง และมีความสามารถในการสร้างขอบเขตที่ดีระหว่างตนเองกับผู้อื่น - รู้วิธีที่จะให้พื้นที่กับเด็กน้อยของตนเอง เพื่อที่จะมีความรู้สึกที่เข้มข้นท่วมท้นต่างๆได้อย่างเต็มที่ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องพยายามปิดกั้นหรือตัดขาดความรู้สึกเหล่านั้นทิ้งไป - ฝึกฝน การรักตนเอง และ การดูแลตนเอง แล้วเราจะสร้างการเชื่อมโยงกับ 'เด็กน้อยภายใน' ของเราได้อย่างไร?
มีวิธีการฝึกฝนมากมาย ที่ช่วยให้เราเริ่มรับรู้ รู้จัก เชื่อมต่อ และฝึกที่จะดูแลเด็กน้อยของเรา...
- ทำ Body-Scan เชื่อมโยงการรับรู้ของเราเข้ากับความรู้สึกต่างๆทางกาย
- หลับตาลง และสร้างจินตภาพถึง "เราตัวน้อยๆ" หรือ ตัวเราในช่วงวัยเด็ก ค่อยๆเริ่มบทสนทนาอย่างอ่อนโยน กับตัวเราที่เป็นเด็กน้อยๆนี้ อาจลองถามคำถามเช่น "รู้สึกยังไงบ้างจ๊ะ?" หรือ "ตอนนี้เธอกำลังต้องการอะไร?"
- วาดภาพ ระบายสี หรือทำงานสร้างสรรค์ งานศิลปะ ในรูปแบบใดๆก็ได้ ที่สะท้อนเป็นภาพของ "เด็กน้อย" ของเรา
- เขียนจดหมาย ถึงเด็กน้อยของเรา
- ใช้คำภาวนา หรือมนตร์ง่ายๆ เช่น "เธอปลอดภัยนะ" หรือ "ฉันจะอยู่กับเธอ และคอยดูแลเธอเสมอนะ"
มกราคม 2563 มะเหมี่ยว - วรธิดา วิทยฐานกรณ์ Voice Dialogue Facilitator
Commentaires